ร่วมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต
แม้ว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ของปวงชนชาวไทย ได้เสด็จสู่สวรรคาลัยมานานกว่า 20 กว่าปี แล้ว แต่พระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยยังคงตราตรึงในหัวใจของทุกคนมาถึงปัจจุบัน และเนื่องในโอกาส วันศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 เราจะมาร่วมย้อนรำลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ อันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติไปพร้อม ๆ กันค่ะ
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก กองบังคับการตำรวจน้ำ (Marine Police Division)
นับตั้งแต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และได้เป็นพระราชมารดาของพระมหากษัตริย์ไทยถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จวบจนเจริญพระชนมายุเป็น สมเด็จย่า และ สมเด็จทวด ของพระราชนัดดาและพระราชปนัดดาหลายพระองค์ แต่พระองค์ยังทรงมีพระอุตสาหวิริยะในการทรงงาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
สมเด็จย่ากับการบริหารราชการแผ่นดิน
ระหว่างพ.ศ. 2503-2504 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จย่าเป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในช่วงเวลาแห่งการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศตลอดเกือบ 7 เดือน
ในการนี้พระองค์ทรงเข้าร่วมประชุมกับคณะองคมนตรีเป็นประจำเสมอมิได้ขาด ทั้งยังทรงลงพระนามาภิไธยในกฎหมายและประกาศทีสำคัญหลายฉบับ รวมทั้งยังทรงเสด็จฯ ออกรับเอกอัครราชทูตของประเทศต่าง ๆ ที่ขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระราชสาส์นตราตั้งในการมาประจำที่ประเทศไทยตลอด
สมเด็จย่ากับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข
เมื่อปี พ.ศ. 2507 ขณะที่สมเด็จย่าเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ พระองค์ทรงพระราชดำเนินไปตามป่าเขา เพื่อแวะเยี่ยมเยียนชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวกนั้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ตามเสด็จช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้านที่ป่วยไข้จำนวนมาก จนมีพระราชดำริจัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาในพระองค์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2511
จากนั้นในปี พ.ศ. 2512 พระองค์จึงทรงมีพระราชปรารภถึงแนวพระราชดำริในการจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระองค์ และได้จัดให้มีการประชุมอาสาสมัครขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระ ตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ซึ่งผลการประชุมในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิด หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล หรือที่พระราชทานชื่อย่อ พอ.สว. โดยหน่วยแพทย์นี้ ประกอบไปด้วย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่อาสาสมัครทำงาน โดยมิได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนใด ซึ่งเริ่มออกให้บริการตรวจรักษาชาวบ้านตามท้องถิ่นต่าง ๆ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512
สมเด็จย่ากับการศึกษาของเยาวชนในชนบทไทย
เนื่องจาก ในปีพ.ศ. 2507 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมเยียนราษฎร โดยทรงพบกับสภาพความขาดแคลนโรงเรียนสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดาร เนื่องจากในเวลานั้นกระทรวงศึกษาธิการยังขยายเขตการศึกษาไปไม่ถึงพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ห่างไกล
ดังนั้นเมื่อความทราบว่า กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน มีโครงการจัดสร้างโรงเรียนชาวเขาขึ้น พระองค์จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน นำไปจัดสร้างโรงเรียนจำนวน 29 แห่ง โดยภายหลังผู้มีจิตศรัทธาได้ทูลเกล้า ถวายเงินสมทบในการจัดสร้างได้อีกกว่า 185 แห่ง
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรับโครงการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไว้ในพระราชูปถัมภ์ ทำให้ในปัจจุบันมีโรงเรียนเกือบ 400 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ถูกโอนเข้าไปสังกัดในส่วนงานการประถมศึกษาแล้ว ซึ่งในเวลาต่อมา เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น ก็ได้ทรงฝากให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีช่วยสานต่อโครงการดังกล่าวแทน
สมเด็จย่ากับงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากสมเด็จย่าทรงต้องการทอดพระเนตรเห็นความเขียวชอุ่มและความสมบูรณ์ของสภาพป่าบนดอยตุง จึงทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ พลเอกเปรมติณ สูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น ในปี พ.ศ. 2531โดยเน้นการปลูกป่าและพัฒนาความรู้ให้แก่ชาวบ้านบนดอยตุง จนทำให้สภาพป่าบนดอยตุงมีความสมบูรณ์ขึ้นมา
และความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงในครั้งนี้ ได้จุดประกายให้ประชาชนทั่วไปเกิดการตื่นตัวในการสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจนหมดสภาพความเป็นป่า ก็ได้หันมาให้ความร่วมมือกับทางราชการเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ตามเดิม
นอกเหนือจากโครงการที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ สมเด็จย่ายังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติในด้านอื่น ๆ อีกนานัปการ และเนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ดังนั้น ในวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันที่ 18 กรกฎาคม ของทุกปี องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมักร่วมกันกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ด้วยการจัดนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ เพื่อให้ชาวไทยทุกคนได้น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จย่า มาเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ดังนั้นในฐานะของประชาชนชาวไทย ทุกคนควรร่วมแรงร่วมใจกัน พัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง เพื่อสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ที่อยากเห็นประชาชนทุกคนอยู่ดี กินดี และมีความผาสุขสืบไป
CR:www.kapook.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- tkpark.or.th